ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ "ผมอยากมีรัฐบาลทางขวาง"
ชั่วโมงนี้ รัฐบาลไทย พร่ำพูดเรื่องการปฎิรูปประเทศไทย การปรองดอง และการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่นั่นอาจเป็นเรื่องของรัฐบาล ทางตั้ง ขณะที่โลกยุคใหม่กำลังพูดเรื่อง รัฐบาลทางขวาง
“ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์"รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) ได้พูดถึงการสร้างความเข้มแข็งให้สังคมไทยในอีกมุมหนึ่งในปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “HR อมตะ”ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 6 สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
งานนี้ซีอีโอ แห่งโลกตะวันออกได้แสดงทรรศนะต่อโลกในวันนี้ว่าไว้อย่างน่าสนใจว่า ถ้าหาก 300 กว่าประเทศในสหประชาชาติ คือ รัฐบาลทางตั้ง ผมอยากมีประเทศหรือรัฐบาลทางขวาง
รัฐบาลทางขวางในความหมายของ ซีอีโอซีพีออลล์ คืออะไร
"ก่อศักดิ์"ขยายความว่า ในชีวิตประจำวันของเรามีบริษัทใหญ่ทั่วโลกอยู่ประมาณ 1,000 บริษัทที่มีผลต่อชีวิต
ทุกวันๆเราต้องเสียสตางค์ เสียภาษีให้กับโตโยต้า โนเกีย เชลล์ เอสโซ่ รวมถึงปตท. และบริษัทอื่นๆ อีกมากมาย
บางบริษัทที่ใหญ่ ๆ เช่น มิตซูบิชิของญี่ปุ่น เงินเดือนของพนักงานรวมกันมากกว่าเงินเดือนของข้าราชการไทยทั้งประเทศ
และบริษัทใหญ่เหล่านี้ทุก ๆวัน จะมีสิ่งประดิษฐ์มานำเสนอให้เราเปลี่ยนแปลงในชีวิตตลอดเวลา
สิ่งเหล่านี้เปรียบเป็นรัฐบาลทางขวาง
“เอาง่าย ๆ ถ้าเกิดบิลเกตมาประเทศไทย ผู้คนจะให้การต้อนรับแบบเอิกเกริกใหญ่โต ซึ่งอาจจะมากกว่าประธานาธิบดีของประเทศระดับกลางมาประเทศไทยด้วยซ้ำ”
“ก่อศักดิ์”บอกว่า วันนี้เอาเข้าจริงประเทศที่มีอิทธิพลต่อโลก อย่างเก่งก็มี 20-30 ประเทศเท่านั้น นอกนั้นล้วนแต่เป็นประเทศที่ไม่มีใครรู้จัก
เอาแค่ประเทศไทย หากมีชาวต่างประเทศมาเที่ยวเมืองไทย สัก 3 วันแล้วกลับไป เผลอๆ ยังไม่รู้ว่านายกรัฐมนตรีของประเทศไทยชื่ออะไร หรือสมมติว่าเราไปเที่ยวจังหวัดลำปางสัก 3 วันกลับมา ถามว่ารู้ไหมว่าผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางชื่ออะไร ไม่มีใครรู้ เพราะตอนนี้รัฐบาลของประเทศเป็นทางตั้ง
วันนี้จึงต้องยอมรับความจริงว่าหลายๆ ประเทศไม่มีบทบาท ไม่มีพลังในตลาดโลก แม้กระทั้งประเทศไทยถ้าวันนี้ปิดประเทศ ก็ไม่มีใครสนใจ ปิดไปตัวเองก็ลำบาก
ถ้าถามต่อว่า หากรัฐบาลไทยไปเกาหลีวันนี้อยากพบประธานซัมซุงมากกว่ารัฐมนตรีของประเทศเกาหลีหรือเปล่า แน่นอนต้องอยากพบประธานซัมซุงมากกว่าเพื่อเชิญเขามาลงทุนในประเทศไทย ส่วนรัฐมนตรีแทบจะไม่มีความสำคัญ แม้ว่าจะแย่งเก้าอี้กันแทบตาย เพราะปีหนึ่งอาจจะเปลี่ยนรัฐมนตรีถึง 3 คนเหมือนประเทศไทย
“ก่อศักดิ์”ย้ำว่า ประเทศที่มีพลังมาก เพราะว่ามีบริษัทที่มีพลังมากอยู่จำนวนมาก ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกากับบราซิล หากลองเปรียบเทียบจะพบว่าทั้ง 2 ประเทศมีพื้นที่ใหญ่พอๆ จำนวนประชากรก็ใกล้เคียงกัน แต่ในเวทีโลก บราซิลกลับไม่มีพลัง เพราะว่าไม่มีบริษัทขนาดยักษ์มากเท่ากับสหรัฐอเมริกา
ชั่วโมงนี้จึงถึงเวลาแล้วที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต้องสนใจอำนาจการแข่งขันในตลาดโลก โดยมุ่งไปที่องค์กรเอกชน เพราะทั้ง สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส ล้วนแต่ให้การสนับสนุนองค์กรเอกชน เพราะเขาเชื่อว่า เมื่อใดที่องค์กรเอกชนแข็งแกร่งยั่งยืน นั่นคือ เศรษฐกิจของประเทศเขา
ประเทศไทยวันนี้ เอกชน คือ คนที่กุมทรัพยากรเกือบทั้งหมดของประเทศ ดังนั้นต้องมองไปที่องค์กรเอกชน
ถ้าประเทศไทยมีองค์กรเอกชนที่เติบโตไปเรื่อยๆ อย่างยั่งยืน เศรษฐกิจของประเทศก็จะยั่งยืนเข้มแข็ง การบริหารจัดการองค์กร โดยเฉพาะ HR จึงเป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นเรื่องสำคัญเท่ากับเรื่องของชาติไม่ใช่เรื่องขององค์กรหรือบริษัทใดบริษัทหนึ่ง
แต่ถ้าจะถามว่าจะบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรอย่างไรให้องค์กรแข็งแกร่ง “ก่อศักดิ์”บอกว่า อยู่ที่มุมมองของผู้บริหาร
ถ้าผู้บริหารมองว่าองค์กรประกอบด้วยคน องค์กรเป็นกิจกรรมของทีมเวิร์ค คนทั้งหมดที่อยู่ในองค์กรรวมพลังกันทำงาน ผลงานออกมาก็ตกเป็นขององค์กร
ซึ่งที่ผ่านมามีหลายๆ องค์กรที่มองว่า องค์กรคือ เครื่องพิมพ์ธนบัตร
องค์กรเป็นแหล่งทำเงิน หาทางทั้งวัน ทั้งคืน ว่าจะทำเงินอย่างไร
บางบริษัท สร้างขึ้นมาโดยคนตระกูล แล้วมองว่าบริษัทเป็นของตระกูล การบริหารจัดการอำนาจทั้งหมดเป็นของตระกูล ลูกจ้างที่มีอยู่เป็นเพียงถูกจ้างที่ให้มาทำงานเป็นชิ้น ๆ ใครพอใจก็อยู่ ไม่พอใจก็เลิกจ้าง
พฤติกรรมขององค์กรจึงมีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับผู้บริหารจะมีมุมมองด้าน HR อย่างไร
หลายคนอาจจะคิดว่า บริษัทที่บริหารโดยคนในตระกูลไม่ทันสมัย แต่จากประสบการณ์ที่พบ หลายแห่งไม่ได้เป็นอย่างนั้น มีการมอบอำนาจที่แท้จริงให้กับซีอีโอคนนอก
ยกตัวอย่าง บริษัทเอสเอสบี ในประเทศเนเธอแลนด์ เป็นบริษัทค้าถ่านหินมากที่สุดในยุโรป แต่เป็นบริษัทครอบครัวที่อยู่มาถึง 9 ชั่วอายุคนแล้ว หัวหน้าของตระกูลเมื่อ 17-18 ปีที่แล้วถูกจัดอันดับให้เป็นเศรษฐีโลกอันดับที่ 23
บริษัทแห่งนี้บริหารจัดการโดยไม่ให้สมาชิกของครอบครัวมา 50 คน 100 คนมาทำงานในองค์กร เพราะไม่เช่นนั้นก็จะมีญาติของเขย เขยของญาติ สะใภ้ของญาติ ญาติของสะใภ้มากันเป็น 10 เป็น 100 คน การปกครองก็จะยาก การลงโทษ ชมเชย ก็ลำบาก
ดังนั้นองค์กรนี้จึงให้ญาติถือหุ้นไว้เฉยๆ แล้วเลือกไม่กี่คนที่เก่งๆ เข้ามาอยู่ในบอร์ด แต่ไม่ให้ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการหรือซีอีโอ แต่ใช้วิธีการจ้างซีอีโอมืออาชีพเข้ามาบริหาร ทำให้บริษัทครอบครัวแห่งนี้ไม่ด้อยกว่าโฮลดิ้งอื่นๆ
ในขณะที่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์มากมายกลับมีปัญหา อย่างกรณีของเอ็นรอน แม้ว่าจะมีการสรรหาซีอีโอจากคนออกเข้ามาก็บริหาร แต่ด้วยพันธสัญญาที่กำหนดไว้ตั้งแต่การเซ็นสัญญาจ้างงานว่า ผู้บริหารจะต้องทำตัวเลขให้ได้เท่านั้นเท่านี้โดยไม่ได้สนใจว่าจะต้องสร้างคนอย่างไร จะทำให้คนที่อยู่ในองค์กรรักองค์กรอย่างไร เพราะอีกไม่กี่ปีก็หมดสัญญาจ้าง
ตรงนี้จะเห็นว่า เรื่องงาน HR สำคัญมากเพราะเกี่ยวกับคนทั้งทีม ถ้าทีมงานอยู่ด้วยกันแล้วมีความสุข เรียกว่ามีสุขภาพจิตที่ดี ทีมงานนั้นก็จะร่วมมือร่วมแรง ร่วมใจในการช่วยกันแก้ปัญหา แล้วก็มองไปข้างหน้า ก็จะทำให้องค์กรยั่งยืน
ซึ่งที่ผ่านมาเวลาพูดถึงคำว่า stakeholderทุกคนจะคิดถึงผู้ถือหุ้น ลูกค้า ซัพพลายเออร์ แต่ลืมนึกถึงคนใกล้ตัว คือทีมงาน ที่เป็น stakeholderที่สำคัญที่สุด
“องค์กรไม่ใช่โต๊ะ ไม่ใช่เก้าอี้ ไม่ใช่ใบอนุญาต แต่องค์กรก็คือคนทั้งหมดที่ทำงานอยู่ด้วยกัน มีความสำคัญ มีความรักองค์กรมากกว่าผู้ถือหุ้น เพราะผู้ถือหุ้นมีหุ้นไว้ในมือ แต่อาจจะไม่ได้คิดถึงการทำงานขององค์กร ในขณะที่ทีมงานที่ทำงานกับองค์กร คิดถึงงานตั้งแต่ตื่นเช้ามา จนถึงเข้านอน
ฉะนั้นนโยบาย HR คือจะต้องทำให้ทีมงานมีความสุข ทีมงานอยากมาทำงาน ไม่กลัววันจันทร์ เพราะที่ทำงานสนุก ไม่เครียด เพื่อนร่วมงานดี ผู้บริหารก็เป็นกันเอง เป็นห่วงเป็นใยต่อกัน ทุกคนก็จะรักองค์กร รักงาน รักลูกค้า รักอนาคตขององค์กร”
“ก่อศักดิ์”บอกว่า องค์กรจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้บริหาร ถ้าองค์กรใดที่หัวหน้าใหญ่ ผู้มีอำนาจสูงสุด เห็นทีมงานเป็นกระโถน รองรับอารมณ์ไม่ให้มีสิทธิเข้ามาร่วมในการตัดสินใจ ไม่ให้มีสิทธิในการออกความคิด พนักงานก็จะมองตัวเองว่าแค่มารับเงินเดือน อยู่ไปวันๆ อยู่ได้อยู่ อยู่ไม่ได้ไปหาที่อื่น องค์กรก็จะไม่มีพลัง
องค์กรอย่างนี้ ต่อให้มีคนมากก็เหมือนมีคนน้อยเพราะมีเพียงไม่กี่คนที่มีอำนาจ มีหัวคิด ไม่มีใครช่วยคิด
เพราะฉะนั้นองค์กรที่ดีที่สุดไม่ใช่องค์กรที่คิดแต่กำไรสูงสุด แต่เป็นองค์กรที่ทำให้ทีมงานมีพลังสูงสุด
วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)