วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ข่าวจากประชาชาติธุรกิจ เกี่ยวกับ ไทยไทเกอร์ แอร์เวย์

เปิดแผนบินไทยร่วมทุน"ไทเกอร์ แอร์"สิงคโปร์ ทำโลว์คอสต์ชน Air asia

"บินไทย" ทุ่มเกือบ100ล้าน ตั้งบริษัทร่วมทุนร่วมไทเกอร์ แอร์เวย์ส"ทำสายการบินต้นทุนต่ำ ลุยเปิดตลาดทั่วอาเซียน-เอเชีย ตุลาคมนี้ ใช้เทคนิคเข้าถือหุ้นใหญ่เกิน 51% ตั้งเป้าชนยักษ์ใหญ่แอร์เอเชีย ด้านซีอีโอแอร์เอเชียบอกยินดีต้องรับน้องใหม่ บอกอนาคตสู้กันสนุก

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2553 นายนิรุจน์ มณีพันธ์ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายกฎหมายและกำกับกิจกรรมองค์กร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ที่ ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 มีมติอนุมัติในหลักการเพื่อลงทุนในบริษัทร่วมทุนกับ Tiger Airways Holdings Limited เพื่อประกอบการขนส่งในรูปแบบสายการบินต้นทุนต่ำ (Ultra-Low-Cost, Low-fare Airline) ทุนจดทะเบียน 200ล้านบาท โดยบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 49.8 และTiger Airways Holdings Limited ร้อยละ 49.0 คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 99.6 ล้านบาท

สำหรับวัตถุประสงค์การเข้าร่วมทุน
1. สร้างโอกาสทางธุรกิจและรองรับการเปิดเสรีทางการบิน
2. สร้าง Brand เพิ่ม เพื่อปกป้องและขยายส่วนแบ่งการตลาดในแต่ละกลุ่มลูกค้า
3. แสวงหาโอกาสในการเพิ่มรายได้ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ทั้งนี้ที่ประชุมได้อนุมัติให้ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ลงนามใน MOU ระหว่างบริษัทฯ กับ Tiger Airways Holdings Limited เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ Tiger AirwaysHoldings Limited ต่อไป

แหล่งข่าวระดับสูงจากคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) และฝ่ายบริหาร ได้เสนอแผนการลงทุนสายการบินต้นทุนต่ำแห่งชาติ (national low cost airline) เปิดดำเนินการ ไทย ไทเกอร์ แอร์เวย์ส ขึ้นในเมืองไทย หากบอร์ดเห็นชอบหลักการ วันที่ 2 สิงหาคม 2553 ฝ่ายบริหารการบินไทยเตรียมจะลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจเบื้องต้น (MOU) กับกลุ่มไทเกอร์ แอร์เวย์ส โฮลดิ้ง ธุรกิจในเครือเทมาเส็ก ซึ่งปัจจุบันไทเกอร์ฯจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ และจะเริ่มเปิดบินตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป

การบินไทยวางโครงสร้างจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในไทย ไทเกอร์ แอร์เวย์ส เกิน 51% ด้วยการใช้วิธีทางเทคนิคเพื่อป้องกันผิดพระราชบัญญัติร่วมทุนรัฐวิสาหกิจ นั่นคือการบินไทยจะถือหุ้น 49.5% ใช้เงินลงทุนขั้นแรก 100 ล้านบาท และใช้กองทุนสวัสดิการพนักงานการบินไทยเข้าไปถือหุ้นอีกประมาณ 1.5 ส่วนที่เหลืออีก 49% เป็นของสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส และไรอันแอร์ ขั้นตอนแรกเสนอให้มีกรรมการบริหาร ไทย ไทเกอร์ แอร์เวย์ส เพียง 5 คนเท่านั้น เป็นตัวแทนจากการบินไทย 3 คน และจากไทเกอร์ฯ โฮลดิ้ง อีก 2 คน

ปัจจัยหลักที่ผู้บริหารการบินไทยเคยนำเสนออย่างไม่เป็นทางการในที่ประชุมบอร์ดเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2553 คือ ตั้งเป้าเข้าไปชิงส่วนแบ่งผู้โดยสารระหว่างประเทศจำนวนมหาศาลในภูมิอาเซียน และเอเชีย-แปซิฟิก แข่งขันกับเจ้าตลาดอย่างกลุ่มแอร์เอเชีย ซึ่งขณะนี้เปิดเครือข่ายสายการบินโลว์คอสต์ครอบคลุมถึง 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย (สำนักงานใหญ่) ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม

"ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา การบินไทยได้ทำการศึกษาแผนธุรกิจการเปิดสายการบินต้นทุนต่ำแห่งชาติมาบ้างแล้ว โดยให้นายกวีพันธ์ เรืองผกา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบัญชีและการเงิน ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาการลงทุนพัฒนาธุรกิจของการบินไทย เดินหน้าศึกษาการเปิดไทย ไทเกอร์ แอร์เวย์ส ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนี้ จากนั้นก็เริ่มดำเนินกิจการทันที เนื่องจากไทเกอร์ แอร์เวย์ส สิงคโปร์ มีฝูงบินพร้อมใช้ประจำอยู่เรียบร้อยแล้วจำนวน 10 ลำ" แหล่งข่าวกล่าว

ส่วนนกแอร์ซึ่งเป็นสายการบินลูกที่การบินไทยถือหุ้นใหญ่ 39.5% จะวางตำแหน่งให้พัฒนาเส้นทางบินเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น เนื่องจากยังไม่พร้อมจะขยายเที่ยวบินไปต่างประเทศ อีกทั้งเคยเปิดบินมาแล้วในอดีต เส้นทางกรุงเทพฯ-เดลี แต่ล้มเหลว การดำเนินงานขาดทุนมโหฬาร

ด้านนายพาที สารสิน ซีอีโอนกแอร์ กล่าวว่า การบินไทยได้หารือกันแล้วถึงการแบ่งกลุ่มพื้นที่การบินเป้าหมาย เพื่อเปิดทางทำแผนการลงทุนไทย ไทเกอร์ แอร์เวย์ส เป็นโลว์คอสต์แอร์ไลน์บริการบินระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย พร้อมกับมอบหมายให้นกแอร์พัฒนาความแข็งแกร่งตลาดในประเทศเป็นหลัก

ในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ ในการประชุมบอร์ดนกแอร์จะเสนอพิจารณาแผนเช่าฝูงบินอนาคต จากบริษัท จี แคช จำกัด เพิ่มเครื่องบินใหม่ทดแทนเครื่องรุ่นเก่า กำหนดทยอยนำมาปลายปีนี้เรื่อยไปจนถึงสิ้นปี 2555 จำนวน 12 ลำ แยกเป็น โบอิ้ง B737-800 รวม 8 ลำ ขนาดบรรทุกลำละ 189 ที่นั่ง (เข้ามาแทนโบอิ้ง B737-400) และ ATR อีก 4 ลำ ขนาดบรรทุกลำละ 70 ที่นั่ง วางกลยุทธ์นำมาบินในจังหวัดเล็ก ๆ จากกรุงเทพฯ ปลายทางแพร่ น่าน ร้อยเอ็ด ชุมพร

ส่วนผลการดำเนินงานของนกแอร์ ตลอดครึ่งปีแรกระหว่างมกราคม-มิถุนายนปีนี้ สามารถทำกำไรสุทธิเกิน 400 ล้านบาท โดยเฉพาะช่วงนอกฤดูเดินทาง (low season) มิถุนายน มีกำไรสุทธิ 27 ล้านบาท กรกฎาคมมีกำไรสุทธิ 50 ล้านบาท และยอดผู้โดยสารจองซื้อตั๋วล่วงหน้าตลอดสิงหาคมนี้เกิน 30% สะท้อนภาพธุรกิจการบินในประเทศกำลังดีวันดีคืน
"การเปิดไทย ไทเกอร์ แอร์เวย์ส ไม่มีผลกระทบกับนกแอร์ แถมยังจะส่งผลดี เพราะสามารถใช้เครือข่ายถ่ายโอนผู้โดยสารต่างประเทศมาใช้บริการในประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วย" นายพาทีกล่าว


นายทัศพล แบเลเว็ลด์ ซีอีโอไทย แอร์เอเชีย โลว์คอสต์กลุ่มแอร์เอเชีย กล่าวว่า ได้ยินนักลงทุนในสิงคโปร์คุยกันมาตลอด 3 เดือน กรณีการบินไทยจะผนึกแบรนด์โลว์คอสต์แอร์ไลน์กับไทเกอร์ แอร์เวย์ส สิงคโปร์ ในฐานะผู้นำการขายตั๋วโดยสารราคาประหยัดเส้นทางบินระหว่างประเทศแถบอาเซียน เอเชีย จีนตอนใต้+อินโดจีน ยินดีต้อนรับน้องใหม่ ไทย ไทเกอร์ แอร์เวย์ส เข้าสู่สนามแข่ง เพราะจากการศึกษาตลาดบริเวณนี้มีประชากรรวมกันมากถึง 680 ล้านคน และอนาคตอันใกล้คงต้องได้สู้กันสนุก โดยขึ้นอยู่กับว่าใครจะมีกลยุทธ์ทำการตลาดได้เหนือชั้นกว่ากัน


เพราะปัจจุบันในรัศมีการบิน 400 กิโลเมตร กลุ่มแอร์เอเชียเป็นเจ้าตลาดโลว์คอสต์ มีฝูงบินขนาดใหญ่กว่า 100 ลำ ทยอยสั่งเครื่องป้ายแดงเข้ามาเสริมทัพช่วง 5 ปีข้างหน้าอีกเกือบ 200 ลำ เฉพาะไทย แอร์เอเชีย (ประเทศไทย) ปี 2553 มีผู้ใช้บริการกว่า 6.2 ล้านคน จากต่างประเทศ 3 ล้านคน ไทย 3.2 ล้านคน ทำรายได้ปีละประมาณ 1 หมื่นล้านบาทขึ้นไป และเป็นสายการบินที่ลุยทำการบินระหว่างประเทศมาตั้งแต่วันแรกที่เปิดดำเนินการ


"ถ้าวันนี้ผมเป็นผู้นำการบินไทย คงจะไม่มาเสียเวลาลงทุนเปิดโลว์คอสต์เพื่อลงมาแย่งเค้กรายได้หลักหมื่นล้านบาท ถึงขนาดตลาดจะใหญ่แต่ส่วนต่างกำไรจากการขายตั๋วและการบริหารจัดการต้องใช้ความเป็นมืออาชีพ ผมตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดการบินไทยไม่คิดการใหญ่พัฒนาแบรนด์ซึ่งในอดีตเคยเป็นที่รู้จักทั่วโลกเพื่อแข่งขันกับสายการบินแห่งชาติอย่างสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส และเอมิเรตส์ ซึ่งมาทีหลังแต่ดังกว่า แถมยังครองตลาดการบินมูลค่าหลายแสนล้านบาทเพิ่มมากขึ้นทุกปี"


นอกจากนี้ นายทัศพลยังกล่าวด้วยว่า เท่าที่ติดตามความเคลื่อนไหวของไทเกอร์ แอร์เวย์ส สิงคโปร์ ขณะนี้มีฝูงบินอยู่ 10 ลำ จอดอยู่สิงคโปร์ 6 ลำ และออสเตรเลีย 4 ลำ ตลอดระยะเวลาเกือบปีได้พยายามเล็งหาประเทศที่จะขยายสายการบิน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เข้ามาเลเซีย อินโดนีเซีย ไม่ได้ ตอนนี้ก็เหลือแต่ไทยเพียงแห่งเดียว


"หากเปรียบเทียบแบรนด์โลว์คอสต์ ระหว่างไทเกอร์ แอร์เวย์ส แม้จะเริ่มต้นบินระหว่างประเทศ เพราะสิงคโปร์เป็นเกาะไม่มีเส้นทางในประเทศ แต่แบรนด์ในเวทีอินเตอร์ก็ยังไม่แรงเท่ากับกลุ่มแอร์เอเชีย ฉะนั้นจึงไม่เคยหวั่นว่าจะพ่ายแพ้ ถ้าการบินไทยเป็นผู้ลงทุนเองในเมืองไทย" นายทัศพลกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: