วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2553

โมเดล KERIS รูปแบบใหม่แห่งการเรียนรู้แบบEDUNET


อ่านจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เจอบทความเกี่ยวกับการเรียนรู้โดยใช้ICTเข้ามาช่วยในการเรียนการสอน และยังทำให้สนุกอีกต่างหาก เข้าทำนองที่ว่า ทั้ง PLAYและLEARN รวมกันเป็น"เพลิน"นั่นเอง

ถ้าบ้านเราได้อย่างนี้บ้างก็ดีนะครับ......................................


จะดีแค่ไหนหากความรู้มีอยู่ทุกที่และเกร็ดความรู้ดีๆ ก็ไม่ได้มีเฉพาะในโรงเรียน ไม่ต้องจินตนาการไปไหนไกล เพราะที่เมืองไทยก็เกิดขึ้นแล้วด้วยพลังแห่ง "ไอซีที"

ดูเหมือนว่า "กิมจิโมเดล" จะกลายเป็นต้นแบบการพัฒนาประเทศไทยในหลายๆ มิติไปเสียแล้ว ขณะที่กระทรวงวัฒนธรรมคิดจะเลียนโมเดลส่งออกสินค้าวัฒนธรรมผ่านซีรีส์ที่สะท้อนความเป็นไทยแท้ๆ อย่างละคร "สี่แผ่นดิน" และ "นายขนมต้ม" ที่เตรียมโปรเจครีเมคใหม่เป้าหมายเพื่อการส่งออกให้โด่งดังไม่แพ้แดจังกึม จอมนางผู้ยึดครองหัวใจของคนไทยแทบทั้งประเทศ

ล่าสุดกับหน่วยงานเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยอย่าง สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ก็ได้มีความคิดที่จะนำเอาเทคโนโลยีด้านไอซีที มาผนวกสื่อการเรียนการสอนแก่เยาวชน โดยอิงโมเดลของ ‘KERIS’ (แคริสต์) สำนักงานบริการข้อมูลวิจัยภาคการศึกษาของเกาหลี องค์กรอิสระที่ปฏิรูปการศึกษาแดนกิมจิ ทำให้ความรู้ไม่อยู่แค่ในตำราอีกต่อไป โดยนำเอาไอซีทีมาเป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้เรียนเข้าถึงข้อมูลได้ด้วยตนเอง ผ่านอุปกรณ์ที่ทันสมัย ด้วยวิธีการเรียนการสอนที่ผ่อนคลาย และ ไม่ทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าถูกบังคับให้เรียน

โลกเรียนรู้อยู่ในทุกที่

‘KERIS’ โมเดลต้นแบบซึ่งทีมงาน สสค. เดินทางไปดูงานถึงถิ่นเกาหลีนั้น โดดเด่นที่การนำเอาไอซีทีมาเพิ่มลูกเล่นในการเรียนการสอนได้อย่างน่าสนใจ นัยว่า ตัวเด็กเองสนุกไปกับการเรียนจนไม่รู้สึกว่าถูกบังคับให้ต้องเรียน โมเดลที่ KERIS ดำเนินการอยู่ มีสองเรื่อง หนึ่งคือ 'Edunet' กับแนวคิด "โลกเรียนรู้อยู่ในทุกที่" โดย Edunet เป็น web portal รวบรวมแหล่งข้อมูลความรู้ด้านการเรียนการสอน ก่อนกระจายความรู้ไปสู่ทุกคนผ่านทางเว็บไซต์ www.edunet4u.net ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยทำให้ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และบุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาหาความรู้พร้อมกัน ได้ทุกที่ทุกเวลา

ปัจจุบันมีผู้เข้าไปใช้งานเว็บไซต์ Edunet ถึง 5.9 ล้านคน เป็นนักเรียนชั้นประถม 11 เปอร์เซ็นต์ นักเรียนมัธยมต้น 20 เปอร์เซ็นต์ นักเรียนมัธยมปลาย 20 เปอร์เซ็นต์ ครูและผู้ปกครอง 14 เปอร์เซ็นต์

บริการยอดนิยมของ Edunet คือ ระบบการเรียนรู้ออนไลน์จากที่บ้าน (Cyber Home Learning System) โดยครูผู้สอนทั้ง "ครูมืออาชีพ" อย่างคุณครูกว่า 6 หมื่นคนที่อาสาสมัครมาเตรียมบทเรียนและสอนออนไลน์ โดยมีรัฐบาลเพิ่มแรงจูงใจด้วยสวัสดิการพิเศษ เช่น ได้เลื่อนขั้น เพิ่มเงินเดือน หรือ เดินทางไปดูงานที่ต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมี "ครูอาสาสมัคร" ได้แก่ ผู้ปกครองที่เข้ามาใช้งานในระบบจนมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจะได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งจาก KERISให้ทำการสอนผ่านระบบออนไลน์ได้

นอกจาก KERISจะใช้ Edunet เป็นเหมือนที่ปรึกษาทางไกลที่จะคอยให้ความรู้แก่นักเรียนทุกคนแล้ว KERIS ยังทำให้การเรียนในห้องเรียนไม่น่าเบื่อด้วยการจำลองห้องเรียนแบบใหม่ที่รวมเอาระบบการเรียนการสอนกับระบบไอซีทีเข้าไว้ด้วยกัน เรียกว่า ‘ยูคลาส’ (U-class) นำผู้เรียนเข้าสู่โลกของการเรียนรู้ผ่านตัวการ์ตูนที่ปรากฏอยู่ในหน้าจอแอลซีดีหน้าห้องเรียนด้วยระบบ 3 มิติ

จอแอลซีดีที่เป็นเสมือนกระดานดำ เพิ่มความไฮเทคด้วยการเช็คชื่อผ่านบัตรสมาร์ทการ์ดที่เสียบเข้าไปในเครื่องอ่านที่ติดตั้งอยู่บนโต๊ะทุกตัว คือความตื่นตาที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนรู้สึกสนุกสนาน ตื่นเต้นและเกิดจินตนาการ

ที่ห้องเรียนของเด็กประถม 5 และ ประถม 6 โรงเรียนประถมยงฮี เด็กๆ จะเรียนผ่านคอมพิวเตอร์จอสัมผัสขนาดเล็ก (Tablet PC) ที่สามารถพิมพ์ข้อความด้วยแผงปุ่มกดหรือใช้ปากกาที่ติดมากับเครื่องจิ้มหน้าจอเพื่อเลือกเมนูต่างๆ ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย ขณะที่หน้าชั้นเรียนจะมีจอทีวีระบบสัมผัสขนาดใหญ่แสดงเนื้อหาที่ครูสอน ผ่านการซิงค์ข้อมูลกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ของเด็กๆ

ผลลัพธ์สำคัญของ KERIS ก็คือ นักเรียนทุกคนในประเทศเกาหลีใต้สามารถเข้าไปใช้ระบบการเรียนรู้ออนไลน์ได้จากที่บ้านได้ ถือเป็นการลดช่องว่างด้านการศึกษาระหว่างเด็กในเมืองกับเด็กชานเมืองและลดภาระค่าเรียนพิเศษแก่ผู้ปกครอง



ไม่มีความคิดเห็น: